ถกเดือด! ปลาหมอคางดำ 'หมอเก่ง' ไล่บี้กรมประมง ตามหาครีบปลา อึ้ง! ไทยส่งออกแล้ว 3.2 แสนตัว

101.9 هزار بار بازدید - 2 ماه پیش - อนุ กมธ.ปลาหมอคางดำ ระอุ 'หมอเก่ง' ไล่ตามหาครีบปลา
อนุ กมธ.ปลาหมอคางดำ ระอุ 'หมอเก่ง' ไล่ตามหาครีบปลา ย้ำตามสัญญาระบุชัด ก่อนนำเข้าต้องให้กรมประมงตัดครีบไว้ตรวจสอบ

วานนี้ (18 ก.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ที่มีนายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธานอนุ กมธ. วาระการพิจารณาความเห็นและสาเหตุการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยได้เชิญนายบัญชา สุขแก้ว. อธิบดีกรมประมง , ตัวแทนนักวิชาการ . สภาทนายความ และตัวแทนผู้ได้รับความเดือดร้อนแต่ละจังหวัดมาให้ข้อมูล

ในช่วงต้นการประชุม นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. ในฐานะรองประธาน กมธ. กล่าวขอบคุณอธิบดีกรมประมงที่จัดแถลงข่าวเมื่อวานนี้ ก่อนที่อธิบดีกรมประมงจะกล่าวกลางที่ประชุมว่า ตนเป็นข้าราชการ ควรจะตอบแก่สาธารณชน จึงได้แถลงข่าวไป วันนี้ แม้ไม่ได้เตรียมเอกสาร แต่ยินดีให้ความร่วมมือกับประชาชนเต็มที่ พร้อมเล่าถึงประวัติของปลาหมอคางดำ ว่าเป็นตระกูลเดียวกันกับปลาหมอเทศและปลานิล อาศัยอยู่ปากแม่น้ำ ป่าชายเลน ทนความเค็มและออกซิเจนต่ำ ที่สำคัญวางไข่ทุก 22 วัน โดยตัวผู้เป็นผู้อมไข่

“ถามว่าเขารุกรานอย่างไร ในเมื่อเหมือนปลานิลและปลาหมอเทศ ความรุกรานของเขาคือกินทั้งพืชและสัตว์ กุ้ง ลูกหอย แต่จากการผ่าองค์ประกอบอาหารในกระเพาะเขา พบว่าร้อยละ 94 เป็นพืช ที่เหลือเป็นลูกสัตว์ ซึ่งรุกรานไปทั่วยุโรป อเมริกาและหลายพื้นที่ของเราในตอนนี้ เดิม 14 จังหวัด ตอนนี้ 16 จังหวัด ” อธิบดีกรมประมง กล่าว

ทำให้นายแพทย์วาโย ขอตัดบทว่า ตนขอเสียมารยาท แต่ข้อมูลนี้ เราพิจารณาถึง 5 ครั้งแล้ว ดังนั้น ขอตั้งเป็นคำถามแล้วกัน เพราะกรมประมงก็มอบหมายให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาชี้แจงแล้วส่วนหนึ่ง ตนคิดว่าไม่ให้เสียเวลา ก่อนจะเข้าสู่คำถามว่าสรุปแล้วปลาหมอคางดำมันเทคไฟล์ทบินมาจากที่ไหน หรือใครเอาเข้ามา ตนคิดว่าจากระเบียบวิธีการวิจัย น่าจะหาต้นตอได้โดยการตรวจรหัสทางพันธุกรรม ซึ่งรายงานการวิจัยโดยกรมประมงที่ตีพิมพ์ช่วงปี 2565 มีชื่อว่าการวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำตามพื้นที่ชายฝั่งของไทย จากโครงสร้างทางพันธุกรรมของประชากร พบว่าความใกล้ชิดกันของพันธุกรรมปลา มีความใกล้ชิดกันสูงมาก มาจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไม่กี่คู่ จึงอยากให้ขยายความ เพื่องานวิจัยนี้ที่กรมประมงเป็นคนทำเองด้วยซ้ำ

“แสดงว่าเรามีตัวอย่างและ DNA ปลาที่ระบาดในประเทศไทยแล้ว ถ้าเราสามารถจับตัวตั้งต้นได้ อาจจะเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไม่กี่คู่นี่แหละ แล้วโป๊ะเช๊ะกัน เป็นสายพันธุ์เดียวกัน ก็น่าจะคลายความสงสัยและหาตัวผู้กระทำผิดได้ ตัวอย่างปลาที่เป็นขวดโหล 25 ตัว ที่ทางบริษัทซีพีเอฟแถลงข่าวมาว่าได้มอบให้ทางกรมประมงไปแล้ว แต่ทางอธิบดีก็ยืนยันว่าไม่มีสมุดคุม ต้นขั้ว แต่ท่านรองฯ ท่านมารายงานว่าน้ำท่วมไปหรือไม่ ปี 2554 เดี๋ยวเราจะต้องขออนุญาตท่านไว้ก่อนว่าเราอยากไปเยี่ยมกรมประมง ไปดูห้องเก็บตัวอย่างหน่อย ว่าอยู่ชั้น 1 หรือ ชั้น 2 แล้วน้ำท่วม ท่วมถึงระดับไหน จากรายงานของชาวบ้านรู้สึกจะประมาณเข่ามั้ง จึงอยากไปดูว่าท่านเก็บไว้ที่พื้นหรือวางไว้บนชั้น มีกี่ชั้น แล้วน้ำสามารถพัดพาตัวอย่างนี้ไปได้หรือไม่ ด้วยความเป็นห่วงเป็นใย” นายแพทย์วาโย กล่าว

นายแพทย์วาโย กล่าวอีกว่าตนได้รับรายงานอีกว่าบันทึกการประชุมของคณะกรรมการ IBC ของกรมประมงเอง ว่า ณ วันนั้นมีมติของที่ประชุมอนุญาตให้นำเข้า เนื่องจากเป็นเรื่องเดิมที่เคยขออนุญาตแล้ว ภายใต้เงื่อนไขเดิม

“สรุปว่ากรมประมงให้บริษัทซีพีเอฟสามารถนำเข้าปลาหมอคางดำได้ ภายใต้เงื่อนไข ให้กรมประมงเก็บตัวอย่างครีบโดยไม่ทำให้ปลาตายอย่างน้อย 3 ตัว ไม่มีทั้งตัวก็ได้ ผมขอตัวอย่างครีบ 3 ตัว ให้ทางหลายหน่วยงานได้ตรวจ DNA ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้รับขวดโหล 2 ขวดนั้น แต่ท่านต้องมีตัวอย่างครีบที่ท่านเป็นคนเก็บเอง ณ บัดนั้นด้วย” นายแพทย์วาโย กล่าว

นายแพทย์วาโย ถามต่อว่า เมื่อวานอธิบดีระบุว่าไม่มีกฎหมายเอาผิดผู้ที่ปล่อยปละละเลยได้ อยากให้ช่วยขยายความว่าไม่มีข้อกฎหมายเลยหรือไม่ และข้อสุดท้าย จะปล่อยปลาที่ตัดต่อพันธุกรรมแล้วปล่อยให้ไปผสมพันธุ์จนได้ปลาที่เป็นหมัน แต่มีงบเพียง 150,000 บาท จึงไม่แน่ใจว่ามีการเพิ่มงบแล้วหรือยัง และตอนนี้เริ่มวิจัยไปแล้วหรือยัง

ขณะที่นายณัฐชา ถามอธิบดีต่อว่า เรื่องบริษัทเอกชนที่ตอบโต้กลับมาว่ามีการส่งออกปลาพันธุ์นี้ไปยังประเทศอื่นด้วยในปี 2556-2560 จริงเท็จอย่างไร ซึ่งมีข้อมูลที่ยังไม่เปิดเผย จึงอยากให้ชี้แจง เรื่องการส่งตัวอย่างในการตรวจสอบว่าปลาที่ดองไว้ในขวดโหลจะมีกระบวนการอย่างไร และตนอยากทราบว่ากรมประมงใช้งบไปเท่าไหร่ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงแนวทางที่ถูกต้องในการนำเข้าปลาต่างถิ่นเข้ามา และการติดตามต้องทำอย่างไร

จากนั้น อธิบดีกรมประมง ตอบว่า ข้อมูล ณ วันนี้ที่กรมประมงมีที่พอจะเห็นร่องรอย มีบริษัทเดียวที่ขอนำเข้า เดือน ก.ย. ปี 2553 พร้อมตอบรับคำเชิญอนุ กมธ.ไปที่กรมฯ “กรมประมงเป็นกลุ่มโปร่งใส เปิดเผย ตรวจสอบได้ เชิญครับ ไปเยี่ยมกรมประมง วันไหนที่ไปก็ขอให้บอกล่วงหน้าสักอาทิตย์หนึ่งนะครับ”


อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ : https://ch3plus.com/news/social/morni...
-------------------------
#เรื่องเล่าเช้านี้ (Morning News)

วันที่ 19 กรกฎาคม 2567
ติดตามความเคลื่อนไหวข่าวสารก่อนใครได้ที่นี่                                          
ch3plus : https://ch3plus.com/news/programs/mor...
facebook : Facebook: MorningNewsTV3
Twitter : Twitter: MorningNewsTV3
YouTube : https://cutt.ly/MorningnewsTV3
Tiktok : TikTok: morningnewsch3

#3PlusNews  #ข่าวช่อง3 #สรุยทธ #ไบรท์
2 ماه پیش در تاریخ 1403/04/28 منتشر شده است.
101,980 بـار بازدید شده
... بیشتر